พิธีทอดกฐินวัดพระธรรมกาย ประจำปี ๒๕๕๗
(กฐินธรรมชัย สร้างทุกสิ่ง)
วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗
ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีที่เกิดจากพุทธประสงค์
"การทอดกฐิน" เป็นประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน กว่า 2,500 ปี กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อพระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐเดินทางไกลไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน พระภิกษุเหล่านั้นมีจีวรที่เปรอะเปื้อน เปียกชุ่ม และเปื่อยขาดด้วยความเก่า พระบรมศาสดาจึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษารับผ้ากฐินเพื่อนำมาผลัดเปลี่ยนผ้าเก่าได้หลังออกพรรษา
การทอดกฐินจึงเป็นการทำบุญที่เกิดจากพุทธประสงค์
"มหากฐิน" คือ กฐินสามัคคีที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาเลื่อมใสฝนพระพุทธศาสนา และตระหนักถึงอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ของการทอดกฐิน
การทอดกฐินถือเป็นบุญใหญ่แห่งปีที่ทุกคนรอคอย เพราะเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากว่าบุญอื่น เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการดังนี้
1. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
2. จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
3. จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
4. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป
5. จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
6. จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น (โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ)
นอกจากนี้ กฐินทานยังเป็นทานที่พิเศษ คือ ทั้งพระภิกษุและญาติโยมผู้ทอดกฐินได้อานิสงส์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน
ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายคนหนึ่งชื่อนายติณบาล เขามีฐานะยากจนมาก แต่มีศรัทธาที่แรงกล้าอยากร่วมบุญกฐิน ถึงแม้เขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองเลย แต่เขาก็ขวนขวายหาทางร่วมบุญ
เขาตัดสินใจเอาเสื้อผ้าที่มีอยู่เพียงชุดเดียวไปขาย แล้วนำใบไม้มาเย็บเป็นผ้านุ่งกันอุจาด จากนั้นนำเงินจากการขายเสื้อผ้าไปซื้อด้ายและเข็มมาเป็นบริวารกฐินด้วยความปลื้มปีติเหลือประมาณ
การกระทำของนายติณบาลทำให้ท้าวสักกเทวราชแห่ง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง จนต้องเสด็จลงมาให้พร และเมื่อพระราชาทรงทราบเรื่อง ก็พระราชทานทรัพย์ให้เขาเป็นจำนวนมาก เขาจึงกลายเป็นเศรษฐีทันตาเห็นด้วยบุญจากการทอดกฐินด้วยศรัทธาที่เต็มเปี่ยม
เมื่อละโลกแล้ว นายติณบาลได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภพชาติสุดท้ายได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุอรหัตผลด้วยอำนาจบุญที่เขากระทำมาดีแล้ว
อานิสงส์ของการถวายผ้าไตรจีวร
หากเกิดเป็นชาย ถ้าได้สั่งสมบุญด้านการถวายผ้าไตรจีวรมามากเพียงพอแล้ว จะได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้ ซึ่งถือเป็นสุดยอดของการบวช
หากเกิดเป็นหญิงจะได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ที่เป็นสุดยอดของเครื่องประดับในยุคพุทธกาล ซึ่งในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า ในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน มีสตรีผู้มีบุญมากเพียง 3 ท่าน เท่านั้น ที่ได้ครอบครองเครื่องประดับนี้ คือ มหาอุบาสิกาวิสาขา นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลเสนาบดี และลูกสาวเศรษฐีท่านหนึ่ง
อานิสงส์ของการให้ทานจาก "สีหสูตร"
- ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก
- คนดีเป็นอันมากย่อมพอใจคบหาผู้ให้ทาน
- ชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้ย่อมฟุ้งขจรไป
- ผู้ให้ย่อมแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่เก้อเขินในที่ประชุมชน
- เมื่อละจากโลกนี้ ผู้ให้ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์